บทที่ 5
ข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร
มโนทัศน์(Concept)
นักพัฒนาหลักสูตรควรตระหนักและควรนำข้อมูลพื้นฐานทางด้านสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรในอนาคตว่า
การจัดทำหลักสูตรข้อมูลพื้นฐานมีความสำคัญมาก
ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ควรละเลยที่จะศึกษา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางด้านสังคม
เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครองในอนาคตได้ นอกจากนั้นข้อมูลจากบุคคลต่างๆ
ไม่ว่านักการศึกษา นักวิชาการสาขาต่างๆ ความเห็นจากชุมชน
ความต้องการกว้างไกลและลึกซึ้ง
การจัดการศึกษาโดยบุคคลที่มีหน้าที่เพียงกลุ่มเดียวย่อมมีมุมมองที่แคบและไม่ชัดเจนเท่ากับหลายฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน
ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรโดยศึกษาข้อมูลหลากหลายอย่างครอบคลุมจึงสามารถพัฒนาหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ผลการเรียนรู้(Learning Outcome)
1.
มีความรู้ ความเข้าใจ
ในการเขียนประเด็นสำคัญที่ใช้พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้าน ต่างๆ ในการพัฒนาหลักสูตร
2.
สามารถนำความรู้ในการเขียนประเด็นสำคัญจากข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
สาระเนื้อหา(Content)
ข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร
ในอดีตการพัฒนาหลักสูตรในระดับต่างๆ มักใช้ข้อมูลพื้นฐานประกอบการพิจารณาค่อนข้างน้อย
แต่ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเฉพาะด้านเนื้อหาในวิชาต่างๆ
นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตรและละเลยข้อมูลทางด้านศีลธรรม จริยธรรม และสภาพทางสังคม
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และแนวโน้มสภาพสังคมในอนาคต
ทำให้การศึกษาของชาติที่ผ่านมาไม่สามารถช่วยให้คนไทยหลุดพ้นจากความฟุ่มเฟือย
การยึดถือค่านิยมผิดๆ ในการดำรงชีวิตที่ผิดๆ ไม่ช่วยให้การว่างงานลดลง
ไม่ช่วยให้แก้ปัญหาอาชญากรรมหมดไป ประเทศยังคงมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง
ยังมีคนไทยที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ ยังมีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพยากร
เพราะฉะนั้นในการพัฒนาหลักสูตรระดับต่างๆ
ในอนาคตจะต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานในเรื่องต่างๆ จากหลายๆ แหล่งและจากบุคคลหลายๆ
ฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงมาพัฒนาหลักสูตร
สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และอารมณ์
เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและประเทศชาติ
หรือกล่าวโดยสรุปคือสามารถใช้หลักสูตรเป็นเครื่องมือในการสร้างสังคมใหม่ในทิศทางที่ถูกต้องได้
การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องศึกษา วิเคราะห์ สำรวจ วิจัย
สภาพพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะใช้สนับสนุน อ้างอิงในการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ
เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ดี สามารถพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ
และทัศนคติที่นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้
การพัฒนาหลักสูตรเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก
การที่จัดหลักสูตรให้มีคุณภาพนั้นผู้พัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาข้อมูลหลายๆ ด้าน
ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน ข้อมูลเกี่ยวกับสังคม
หรือข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ
เพื่อที่ให้ได้ข้อมูลที่สมจริงที่สุดเพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยนักพัฒนาหลักสูตรในเรื่องต่างๆ
คือ
1.
ช่วยให้มองเห็นภาพรวมว่า
ในการจัดทำหลักสูตรนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้างและสิ่งต่างๆ
เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อหลักสูตรอย่างไร
2.
ช่วยให้สามารถกำหนดองค์ประกอบของหลักสูตรได้อย่างเหมาะสม เช่น
การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร และการกำหนดเนื้อหารายวิชา ฯลฯ
3.
ช่วยให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
4.
ช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรอันจะส่งผลให้การดำเนินการในอนาคตประสบผลดียิ่งขึ้น
ข้อมูลต่างๆ ที่นำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรนั้น
นักการศึกษาทั้งต่างประเทศ และนักการศึกษาไทย ได้แสดงแนวทางไว้ดังนี้
เซย์เลอร์ และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander ,1974:102-103)
กล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรว่า
1.
ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน
2.
ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมซึ่งสนับสนุนโรงเรียน
3.
ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติ และลักษณะของกระบวนการเรียนรู้
4.
ความรู้ที่ได้สะสมไว้และความรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้แก่นักเรียน
ทาบา (Taba, 1962: 16-87) ได้กล่าวว่า
การพัฒนาหลักสูตรโดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์จะต้อง คำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1.
สังคมและวัฒนธรรม
2.
ผู้เรียนและกระบวนการเรียน
3.
ธรรมชาติของความรู้
ไทเลอร์ ( Tyler, 1949:1-43) กล่าวถึงสิ่งที่ควรพิจารณาในการสร้างจุดมุ่งหมายของการศึกษา
คือ
1.
ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน ซึ่งได้แก่ ความต้องการของผู้เรียน
และความสนใจของผู้เรียน
2.
ข้อมูลจากการศึกษาชีวิตภายนอกโรงเรียน
3.
ข้อมูลที่ได้จากข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ
4.
ข้อมูลทางด้านปัญญา
5.
ข้อมูลทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้
จากการรายงานของคณะกรรมการวางพื้นฐานการปฏิรูปการศึกษา (2518:20-50)
ได้กำหนดข้อมูลต่างๆ ในการกำหนดจุดมุ่งหมายทางการศึกษา
และในการจัดการศึกษาของประเภทดังนี้
1.
สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
2.
สภาพแวดล้อมทางประชากร
3. สภาพแวดล้อมทางสังคม
4.
สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
5.
สภาพแวดล้อมทางการเมือง
6.
การปกครองและการบริหาร
7.
สภาพแวดล้อมทางศาสนาและวัฒนธรรม
8.
สภาพของสื่อมวลชนเพื่อการศึกษา
กาญจนา
คุณารักษ์ ( 2521: 23-36 ) กล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
1.
ตัวผู้เรียน
2.
สังคมและวัฒนธรรม
3.
ธรรมชาติและคุณสมบัติของการเรียนรู้
4.
การสะสมความรู้ที่เพียงพอและเป็นไปได้เพื่อการให้การศึกษา
ธำรง บัวศรี (2532:4) กล่าวถึงข้อมูลต่างๆ ในการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
1.
พื้นฐานทางปรัชญา
2.
พื้นฐานทางสังคม
3.
พื้นฐานทางด้านจิตวิทยา
4.
พื้นฐานทางความรู้และวิทยาการ
5. พื้นที่ทางเทคโนโลยี
6.
พื้นฐานทางประวัติศาสตร์
สงัด อุทรานันท์ (2532 : 46) กล่าวถึงพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้
1.
พื้นฐานทางปรัชญา
2.
ข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรม
3.
พื้นฐานเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้เรียน
4.
พื้นฐานเกี่ยวทฤษฎีการเรียนรู้
5.
ธรรมชาติของความรู้
สุมิตร คุณานุกร (2520 : 10) กล่าวถึงข้อมูลต่างๆ
ในการพัฒนาหลักสูตรจำแนกตามแหล่งที่มาได้ 6 ประการ คือ
1.
ข้อมูลทางปรัชญา
2.
ข้อมูลที่ได้จากนักวิชาการแต่ละสาขา
3.
ข้อมูลที่ได้จากจิตวิทยาการเรียนรู้
4.
ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาสังคมของผู้เรียน
5.
ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
6.
ข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี
สาโรช บัวศรี (2514 : 21-22) ได้กล่าวว่า
ในการจัดการศึกษาหรือจัดหลักสูตรต้องอาศัยพื้นฐานหลัก 5 ประการ คือ
1.
พื้นฐานทางปรัชญา
2.
พื้นฐานทางจิตวิทยา
3.
พื้นฐานทางสังคม
4.
พื้นฐานทางประวัติศาสตร์
5.
พื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี
จะเห็นได้ว่าข้อมูลที่นำมาศึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตรมีมากมายหลายด้านสำหรับประเทศไทยควรจัดลำดับข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในด้านต่างๆ
ดังต่อไปนี้
1. สังคมและวัฒนธรรม
2.
เศรษฐกิจ
3.
การเมืองการปกครอง
4.
สภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาในสังคม
5.
พัฒนาการทางเทคโนโลยีสภาพสังคมในอนาคต
6.
บุคคลภายนอกและนักวิชาการแต่ละสาขา
7. โรงเรียน ชุมชน
หรือสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่
8.
ประวัติศาสตร์การศึกษาและหลักสูตร
9.
ธรรมชาติของความรู้
10. ปรัชญาการศึกษา
11. จิตวิทยา
1. ข้อมูลพื้นฐานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
การศึกษาทำหน้าที่สำคัญคือ
อนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมไปสู่คนรุ่นหลังและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของสังคมให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ
โดยหน้าที่ดังกล่าวการศึกษาจะช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไปในทิศทางที่พึงปรารถนา
เพราะฉะนั้นหลักสูตรที่จะนำไปสอนอนุชนเหล่านั้นจึงต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมอย่างแยกไม่ออก
และโดยธรรมชาติของสังคมและวัฒนธรรมมักมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดังนั้น
การพัฒนาหลักสูตรจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
จึงจะทำให้หลักสูตรมีความสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน
สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการสังคมได้
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการใหม่
ผลการวิเคราะห์ออกมาอย่างไรหลักสูตรก็จะเปลี่ยนจุดหมายไปในแนวนั้น สามารถจำแนกข้อมูลให้ชัดเจนได้ดังนี้
1.1 โครงสร้างของสังคม
โครงสร้างไทยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะสังคมชนบทหรือสังคมเกษตรกรรม
และสังคมเมืองหรือสังคมอุตสาหกรรม ในปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก
สังคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นแต่ถึงอย่างไรก็ตามสังคมส่วนใหญ่ของประเทศก็ยังมีสภาพเป็นสังคมเกษตรกรรมอยู่
ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรจำเป็นจะต้องศึกษาโครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
และแนวโน้มโครงสร้างในอนาคตเพื่อที่จะได้ข้อมูลมาจัดหลักสูตรว่า
จะจัดหลักสูตรอย่างไรเพื่อยกระดับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมและเตรียมพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมตามความจำเป็น
1.2 ค่านิยมในสังคม ค่านิยม หมายถึง
สิ่งที่คนในสังคมเดียวกันมองเห็นว่ามีคุณค่าเป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไปในสังคมนั้นๆ
เนื่องจากการศึกษาเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม
ค่านิยมชนิดไหนที่จะได้รับการเปลี่ยนแปลงดำรงไว้หรือค่านิยมชนิดไหนควรสร้างขึ้นมาใหม่
เช่น ค่านิยมของสังคมไทยเกี่ยวกับความเฉื่อยชา การถือความสัมพันธ์ส่วนตัว
การถือประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
1.3 ธรรมชาติของคนไทยในสังคม
ธรรมชาติของคนไทยในแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นฐานทางวัฒนธรรมและค่านิยมนั้นๆ
ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีลักษณะบุคลิกภาพดังต่อไปนี้
1.
ยึดมั่นในตัวบุคคลมากกว่าหลักการและเหตุผล
2.
ยกย่องบุคคลที่มีความรู้หรือได้รับการศึกษาสูง
3.
เคารพและคล้อยตามผู้ได้รับวัยวุฒิสูง
4.
ยกย่องผู้มีเงินและผู้มีอำนาจ
5.
นิยมการเล่นพรรคเล่นพวก
6.
มีลักษณะเฉื่อยชาไม่กระตือรือร้น
ในการพัฒนาหลักสูตร
ควรคำนึกถึงลักษณะธรรมชาติ บุคลิกของคนในสังคม โดยพิจารณาว่าลักษณะใดควรไม่ควร
เพราะหลักสูตรเป็นแนวทางในการสร้างลักษณะสังคมในอนาคต
1.4 การชี้นำสังคมในอนาคต
การศึกษาควรมีบทบาทในการชี้นำสังคมในอนาคตด้วยเพราะในอดีตที่ผ่านมาระบบการศึกษา
เช่น การตั้งรับตามการเปลี่ยนต่างๆ เช่น กระแสการเจริญเติบโตของประเทศทางตะวันตก
กระแสวิชาการตะวันตก ความต้องการและปัญหาสังคม จึงทำให้การศึกษาเป็นตัวตาม
ฉะนั้นการจัดการเรียนรู้ต้องวางเป้าหมายให้ดี
นักพัฒนาหลักสูตรจึงควรศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่เป็นเครื่องชี้นำสังคมในอนาคต เช่น
แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การศึกษาไทยจะได้มีบทบาททางสังคมอย่างแท้จริง
1.5 ลักษณะสังคมตามความคาดหวัง
การเตรียมพัฒนาทรัพยากรให้มีคุณภาพมีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นเรื่องไม่คงที่
เรื่องของประเทศจะส่งผลกระทบการศึกษามีมากมายเช่น การเมือง เศรษฐกิจ
ความก้าวหน้าทางวิชาการทั้งนี้ในต่างประเทศจึงตั้งคุณลักษณะของสังคมเปลี่ยนแปลงไป
เพื่อที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร
และคุณลักษณะของประชากรที่มีคุณภาพมีดังนี้
1. มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี
2.
มีอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว
3.
เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ
4.
มีสติปัญญา
5.
มีนิสัยรักการทำงาน
6.
มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
หน้าที่ของนักพัฒนาหลักสูตรก็คือ
จะต้องพิจารณาว่าจะจัดหลักสูตรอย่างไร รูปแบบใดจึงจะทำให้ประชากรมีคุณภาพดี
1.6 ศาสนาและวัฒนธรรมในสังคม
ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคมวัฒนธรรมเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญที่จะแสดงให้ทราบว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนในสังคมเดียวกันหรือเป็นคนชาติเดียวกัน ดังนั้น
ศาสนาและวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการพัฒนาหลักสูตร
ทั้งนี้เพราะจุดประสงค์สำคัญของหลักสูตรก็คือ
การทะนุบำรุงรักษาและถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ดีงามไว้ การพัฒนาหลักสูตรจึงต้องคำนึกถึงศาสนาและวัฒนธรรมความรู้หลักธรรมศาสนาต่างๆ
นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตรด้วยเหตุที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนา
เพราะฉะนั้นสิ่งที่บรรจุไว้ควรจะเป็นหลักธรรมของศาสนาต่างๆ
ข้อมูลพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาหลักสูตรเป็นอย่างมาก
เพราะเป็นหลักสูตรที่ต้องตอบสนองสังคมและพัฒนาไปพร้อมกัน
การศึกษาข้อมูลพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างรอบคอบจะทำให้เราสามารถนำไปพัฒนาหลักสูตรที่ดีตามลักษณะดังต่อไปนี้
1.
ตอบสนองความต้องการของสังคม
2.
สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม
3.
เน้นในเรื่องรักชาติรักประชาชน
4.
แก้ปัญหาให้กับสังคมมิใช่สร้างปัญหากับสังคม
5.
ปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น
6.
สร้างความสำนึกในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
7.
ชี้นำในเรื่องการเปลี่ยนแปลงประเพณีและค่านิยม
8.
ต้องถ่ายทอดวัฒนธรรมและจริยธรรม
9.
ปลูกฝังในเรื่องความซื่อสัตย์และความยุติธรรม ในสังคม
10. ให้ความสำคัญในเรื่องผลประโยชน์ในสังคม
2.
ข้อมูลพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ
การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ
เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจ
เพราะระบบเศรษฐกิจก้าวหน้าเพียงใดขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนในสังคมนั้น การพัฒนาหลักสูตรให้ให้เหมาะกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ควรพิจารณาประเด็นต่อไปนี้
2.1 การเตรียมกำลังคน
การให้การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการผลิตกำลังคนในด้านต่างๆ ให้เพียงพอ พอเหมาะ
และสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละสาขาวิชาชีพ เพื่อป้องกันการสูญเปล่าทางการศึกษา
และเพื่อลดปัญหาการว่างงานอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้การเตรียมกำลังคนให้สนองความต้องการของประเทศนั้นต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับระดับความ
สามารถที่ต้องการ
ซึ่งมีทั้งระดับผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการสาขาต่างๆ ระดับช่างฝีมือ และระดับกรรมกร รวมทั้งต้องพิจารณาถึงแนวโน้มความต้องการทางเศรษฐกิจของประเทศชาติในอนาคตด้วย
2.2 การพัฒนาอาชีพ
ประเทศไทยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร และประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรที่อาศัยอยู่ในชนบท อาชีพอุตสาหกรรม
พาณิชยกรรมและบริการมีอยู่เพียงชุมชนในเมือง
ปัจจุบันมีการโยกย้ายถิ่นที่อยู่เข้ามาทำงานอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่นสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เกิดชุมชนแออัด ปัญหาครอบครัว เด็กเร่ร่อน เป็นต้น
เพราะฉะนั้นการพัฒนาหลักสูตรควรเน้นการส่งเสริมอาชีพส่วนใหญ่ของคนในประเทศ จัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพตามศักยภาพและท้องถิ่น เพื่อพัฒนาอาชีพให้เหมาะสมเป็นการยกระดับรายได้
คนในชนบทให้สูงขึ้น เพื่อลดปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน
ลดการหลั่งไหลของประชาชนเข้าไปทำงานตามเมืองใหญ่
สิ่งเหล่านั้นเป็นหน้าที่สำคัญที่นักพัฒนาหลักสูตรจะต้องร่วมมือร่วมใจกันทำหลักสูตรอาชีพเพื่อพัฒนาอาชีพให้บรรลุผล
2.3
การขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังพัฒนาจากเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ
นักพัฒนาหลักสูตรควรศึกษาข้อแนวโน้มและทิศทางการขยายตัวในอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมด้านไหนที่จะได้รับการพัฒนา หลักสูตรที่สามารถพัฒนาเยาวชนให้มีความพร้อมสำหรับการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมสามารถผลิตผู้จบการศึกษาที่สามารถเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเหมาะสม
เท่าที่ผ่านมาจะเห็นว่าบางครั้งภาคอุตสาหกรรมไม่มีผู้มีความรู้ความสามารถด้านเฉพาะด้านเข้า
ไปรับรองการการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมบางครั้งมีการผลิตผู้จบการศึกษากับความต้องการของแรงงานของไทยไม่สมดุลกันทำให้บางครั้งภาคอุสาหกรรมเหล่านั้นอย่างพอเพียง
ฉะนั้นการศึกษาแนวโน้มการขยายตัวทางอุตสาหกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่นักพัฒนาการหลักสูตรจะละเลยเสียมิได้
2.4 การใช้ทรัพยากร
เศรษฐกิจเป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสอบสนองความต้องการที่ไม่จำกัดของมนุษย์
เพราะฉะนั้นนักพัฒนาหลักสูตรควรให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพยากรโดยใช้หลักสูตรเป็นเครื่องปลูกฝังเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากร จัดทำหลักสูตรเนื้อหาวิชา
กิจกรรมและประสบการณ์ในหลักสูตรที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
และเน้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจครบวงจรอันได้แก่ การผลิต การจำหน่าย การบริโภค
การแลกเปลี่ยนการบริการโดยเน้นการปฏิบัติจริงและการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้รู้จักและเข้าใจระบบเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งในจุดนี้นักพัฒนาหลักสูตรควรให้ความสำคัญแล้วคิดพัฒนาหลักสูตรเพื่อสนองพระราชดำริดังกล่าว
ในอนาคตประชาชนจะเห็นความสำคัญของทรัพยากรและสามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่นำมาใช้ประโยชน์ เกิดรายได้อย่างมีคุณค่า ไม่มีการสูญเสียทางทรัพยากร
ปัญหาความยากจนและการอพยพย้ายถิ่นก็ไม่เกิดขึ้น
2.5
การพัฒนาคุณลักษณะของบุคคลในระบบเศรษฐกิจของไทย
คุณลักษณะของในบุคคลในระบบเศรษฐกิจของคนไทยยังขัดแย้งกับความเป็นจริงในระบบเศรษฐกิจ
เช่นคนไทยมีรายได้ต่ำแต่ความต้องการจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจในระบบเปิดทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยหลั่งไหลเกิดปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว
หรือเป็นเศรษฐกิจในระบบเปิดทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยหลั่งไหลเข้ามาสร้างวัฒนธรรมใหม่ในหมู่เยาวชน หรือการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้ด้อยการศึกษาจากบุคคลผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ
ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้เป็นคุณลักษณะของคนไทยในระบบเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนา
การใช้การศึกษาเข้าไปแก้ไขจะเป็นวิธีการสำคัญและให้ผลในระยะยาว เพราะฉะนั้นการพัฒนาหลักสูตรต้องคำนึงถึงการพัฒนาคุณลักษณะของคนไทย ในหลักสูตรจะต้องบรรจุเนื้อหาสาระ
และประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีการปลูกฝังจิตสำนึกในความรับผิดชอบร่วมกัน การสร้างค่านิยมในการทำงานร่วมกัน
การไม่เอารัดเอาเปรียบกันความขยันหมั่นเพียร การรู้จักอดออม การมีสติรู้คิด การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การสร้างเสริมความสามารถในการผลิต การสร้างงานและแนวการประกอบอาชีพ ถ้าหลักสูตรในระดับต่างๆ
ได้บรรจุและปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ไว้ทั้งในแนวกว้างและแนวลึกตามระดับการศึกษาแล้วผู้จบการศึกษาก็จะเป็นบุคคลมีความสามารถพัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจภายใต้ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจได้เหมาะสม
2.6 การลงทุนการศึกษา
การจัดการศึกษาในระดับต้องใช้งบประมาณของรัฐโดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดการศึกษาควรคำนึงถึงงบประมาณเพื่อการศึกษาแหล่งงานที่จะช่วยเหลือรัฐในรูปงบประมาณ ในการพัฒนาพัฒนาหลักสูตรควรจัดให้สอดคล้องกับงบประมาณของรัฐ ไม่ว่าในด้านจัดการเรียนการสอน ด้านวัตถุอุปกรณ์
เพื่อให้มีการใช้หลักสูตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องคำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุน
ในด้านกำลังคนปริมาณคน และคุณภาพ เช่น
การพัฒนาหลักสูตรให้เยาวชนมีคาวามสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์ การลงทุนด้านอุปกรณ์คือคอมพิวเตอร์ ให้ทุกโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์สอนนักเรียน แต่บางโรงเรียนไม่มีไฟฟ้า
หรือบางโรงเรียนยังไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์
การลงทุนในจุดดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า
เฉพาะฉะนั้นในการพัฒนาหลักสูตรควรคำนึงถึงการลงทุนทางการศึกษาด้วยว่าเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าหรือไม่
ในอนาคตมีตัวอย่างในการพัฒนาหลักสูตรที่ทำให้เกิดการสูตรเปล่าทางการศึกษาอยู่เสมอ
3.
ข้อมูลพื้นฐานทางด้านการเมืองการปกครอง
การเมืองการปกครองเป็นที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันในสังคมหมู่มากจำเป็นต้องมีระเบียบแบบแผนหรือกติกาต่างๆ
สำหรับสมาชิกในสังคมยึดถือเป็นแนวปฏิบัติต่อกันเพื่อความสงบเรียบร้อยและการอยู่รวมกันอย่างสันติ ดังนั้น การเมืองการปกครองจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่สิทธิ และความรับผิดชอบที่ทุกคนพึงมีต่อสังคมและประเทศชาติ
การเมืองการปกครองมีความสัมพันธ์กับการศึกษา
ในฐานะที่การศึกษามีหน้าที่ผลิตสมาชิกที่ดีให้แก่สังคมให้อยู่ในระบบการปกครองประเทศชาติ
ช่วยให้ผู้เรียนทราบว่าตนมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร และควรแสดงแนวคิดปฏิบัติตนอย่างไรหลักสูตรของประเทศต่างๆ
จึงควรบรรจุเนื้อหาวิชาและประสบการที่จะปลูกฝังให้ประชากรอยู่ร่วมกันในสังคมได้ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสันติสุข
ข้อมูลที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง
ที่ควรจะนำมาเป็นเนื้อหาประกอบการพิจารณาในการพัฒนาหลักสูตรก็คือ ระบบการเมืองและระบบการปกครอง นโยบายของรัฐและรากฐาน ของประชาธิปไตย
3.1ระบบการเมืองการปกครอง
เนื่องจากการศึกษาเป็นเครื่องมืออันหนึ่งของสังคม ดังนั้น
การศึกษาระบบการเมืองการปกครองจึงแยกกันไม่ออก
หลักสูตรของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับประถมศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานมักจะบรรจุเนื้อหาสาระของระบบการเมืองการปกครองไว้
เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอยู่ร่วมกันใจสังคมได้ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ในบางประเทศที่ต้องการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองให้แก่ประชาชน เพราะฉะนั้นในการพัฒนาหลักสูตรควรเลือกเนื้อหาวิชาประสบการณ์การเรียนรู้
และการจัดให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองที่ต้องการปลูกฝัง
3.2 นโยบายของรัฐ
เนื่องจากการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมจึงมีความจำเป็นต้องสอดคล้องกับระบบอื่นๆ ในสังคมการที่จะทำให้ระบบต่างๆ
สามารถเกื้อหนุนส่งเสริมซึ่งกันและกันจึงจำเป็นต้องมีการประสานสัมพันธ์ระหว่างระบบเหล่านั้น
ด้วยเหตุนี้รัฐบายจึงมีนโยบายแห่งรัฐเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของระบบต่างๆ ให้มีความต่อเนื่องและสอดคล้องซึ่งกันและกัน
นโยบายของรัฐที่เห็นได้ชัดเจนคือ
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาการศึกษา
ในการพัฒนาหลักสูตรควรจะได้พิจารณานโยบายของรัฐด้วย เพื่อที่จะได้จัดการศึกษาให้สอดคล้องกัน
3.3 รากฐานของประชาธิปไตย
จากการที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์มาเป็นระบบอบประชาธิปไตยใน
พ.ศ. 2475 นั้น ควรรู้ความเข้าใจตลอดจนความรู้สึกนึกคิดต่างๆ
เกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทยยังไม่เพียงพอ
หลักสูตรในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาคนควรที่จะวางรากฐานที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยให้แก่สังคม
เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องซึ่งจะสร้างสรรค์ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
และไม่มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้การจัดการเรียนการสอน
จึงควรมุ่งเน้นพฤติกรรมประชาธิปไตยด้วย สำหรับประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมานานแล้ว แต่ทางปฏิบัติเราต้องยอมรับว่ายังไม่สมบูรณ์
ดังจะเห็นได้จากการราษฎรส่วนใหญ่ยังไม่รู้ถึงสิทธิหน้าที่ของตนต่อรัฐ
ไม่รู้ว่าตนเองมีความสำคัญมีส่วนมีเสียงในการปกครอง ไม่รู้ว่าการเมืองมีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของตน
ไม่เห็นความจำเป็นในการเลือกตั้งเป็นต้น
การศึกษาควรมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงแก้ไข
การจัดการเรียนการสอนควรเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง
ให้ประชาชนรู้หน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตย ให้สำนึกว่าการเมืองและการปกครองเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม
ทั้งที่ศึกษาอยู่ในระบบและนอกระบบ และ/ หรือจบการศึกษาแล้วได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติจริงเพื่อสอดคล้องกับนโยบายที่ว่าการศึกษาและ/
หรือจบการศึกษาแล้วได้ศึกษาคือ กระบวนการต่อเนื่องตลอดชีวิต
เมื่อเป็นเช่นการจัดหลักสูตรให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองจึงกระทำได้หลายรูปแบบเพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้
มีจิตสำนึกในความร่วมมือ เข้าใจบทบาทตนเองในด้านการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง
เพื่อเป็นการวางรากฐานทางด้านประชาธิปไตย
การจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ควรจัดตามลำดับดังนี้
1.
การจัดการศึกษาให้เท่าเทียมทั่วถึง
2.
ให้อำนาจการจัดการศึกษากระจายในท้องถิ่น
3.
ให้เสรีภาพและเสถียรภาพแก่บุคคล ให้โอกาสแสดงความคิดเห็น
4.
การเรียนการสอนควรส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ให้โอกาสผู้เรียนแสวงหาความรู้
5.
ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาตนเอง
6. จัดหลักสูตรให้ยืดหยุ่นได้ง่าย
7.
เน้นวิชามนุษย์สัมพันธ์และจริยธรรมเป็นพิเศษ
นอกจากนั้นการปลูกฝังอบรมสั่งสอนนักเรียน
ก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ประชาธิปไตยของไทยมีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นด้วยวิธีการดังนี้
1.
ชี้ให้เห็นประโยชน์ประชาธิปไตยโดยการให้คำแนะนำและปฏิบัติ
2.
สร้างนิสัยให้มีความกระตือรือร้น สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง
3.
ปลูกฝังการมีวินัยและการเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
4.
ฝึกการเคารพกฎเกณฑ์ต่างๆ อย่างเข้มผู้เข้มงวด
5.
กระตุ้นและปลูกฝังให้มีความตั้งใจเรียน ซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อตนเอง
ครอบครัวและประเทศชาติ
6.
ฝึกให้ความสนใจและร่วมกันพิจารณาปัญหาต่าง ของสังคมและหาทางแก้ไข
7.
หาโอกาสให้ให้ความร่วมมือประกอบกิจกรรมเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
8.
ช่วยแก้ไขค่านิยมที่ไม่เหมาะสมในสังคมและสร้างค่านิยมที่ดีและเหมาะสม
9.
ปลูกฝังทัศนคติที่ว่าการเมืองเป็นเรื่องการให้ความร่วมมือ การเสียสละ
และการช่วยชาติเพื่อบุคคลรุ่นใหม่จะได้เป็นนักการเรียนที่ดี
10. ให้ความรู้และกระตุ้นให้สนใจการเมืองโดยคำนึงถึงหลักการ วิธีการ
สิทธิหน้าที่ในฐานะพลเมืองของประเทศ
11.
ปลูกฝังให้มีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองทั้งในระดับโรงเรียน
ท้องถิ่น และประเทศชาติ
12. ปลูกฝังให้ผู้เรียนมีแนวคิดว่าทุกคนควรมีบทบาททางการเมือง
และการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคนทั้งทางตรงและทางอ้อม
13. เน้นให้เห็นความสำคัญของการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง
จากตัวอย่างดังกล่าวพอจะเป็นแนวทางกำหนดเนื้อหา กิจกรรมการจัดการเรียนการสอนและประสบการณ์เรียนรู้ไว้เป็นหลักสูตร
เพื่อให้ผู้เรียนที่จบการศึกษาเป็นผลเมืองที่มีคุณภาพสอดคล้องกับระบบการเมืองการปกครองของประเทศ
4.
ข้อมูลพื้นฐานสภาพปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาในสังคม
สภาพปัญหาและแนวทางในการแก้ปัญหาของสังคมเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่ต้องศึกษา
สังคมไทยปัจจุบันกำลังประสบปัญหายุ่งยากหลายประการ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาเศรษฐกิจ
และปัญหาการเมือง
ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้มีทั้งระยะสั้นระยะยาว
และการแก้ปัญหาอาจทำได้ชั่วคราวหรืออย่างถาวร การจัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักพัฒนาหลักสูตรจะต้องศึกษา แล้วนำมาสร้างเป็นหลักสูตร ปัญหาสำคัญๆ
ที่ควรศึกษาคือ
4.1 ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
การขยายตัวของอุตสาหกรรม
และการใช้เทคโนโลยี ทำให้เกิดปัญหาสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติในสังคมไทยมากขึ้น
เช่น ปัญหาการทำลายป่าไม้ ปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน ปัญหาน้ำเสีย
และอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
เป็นต้น ปัญหาต่างๆ
สมควรที่จะได้ศึกษาข้อเท็จจริงถึงสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขเพื่อที่นำไปเป็นข้อมูลในการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตร เช่น การกำหนดเนื้อหาในเรื่องสภาพแวดล้อม
การปลูกฝังการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ฉลาดถูกต้อง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสามารถกำหนดลงในเนื้อหาของหลักสูตรในระดับต่างๆ ตามความเหมาะสม
เพื่อที่ปลูกฝังความรับผิดชอบในสิ่งเหล่านี้ให้เกิดในผู้เรียน และประเทศก็จะมีพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศ
ปัญหาเกี่ยวสิ่งแวดล้อมในอนาคตก็จะได้รับการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
4.2 ปัญหาทางด้านสังคม
ปัญหาทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
มักจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม
ซึ่งมีสาเหตุจากความเจริญทางด้านวัตถุและวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็วด้วยอิทธิพลของการสื่อสาร
ทำให้คนไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาโดยเฉพาะในหนุ่มสาวหรือเยาวชน ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางด้านความคิดระหว่างคนหนุ่มสาวกับผู้ใหญ่ที่ยึดมั่นในวัฒนธรรมเดิม ทำให้เกิดปัญหากับยาเสพติด ปัญหาทางเพศ
ปัญหาทางอาชญากรรม
ซึ่งการศึกษาปัญหาเหล่านี้จะเป็นข้อมูลในการจัดหลักสูตรเพื่อเตรียมเยาวชนสามารถดำรงอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุขและไม่เกิดปัญหา
4.3 ปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยพื้นฐานนั้นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานดั้งเดิมจากเกษตรกรรม
ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีพื้นฐานอยากจนและมีการศึกษาต่ำ ประชาชนเกิดการว่างงาน
การย้ายถิ่นทำกินชนบทเข้าสู่เมือง
หรืออัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ
สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาทางเศรษฐกิจยาวนานของประเทศ ประกอบกับในปัจจุบันประเทศต่างๆ
ประสบกับภาวะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของโลกทั้งประเทศไทยด้วย ทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจในอดีต ปัจจุบัน และแนวโน้มปัญหาที่เกิดในอนาคต เพื่อจะให้นำข้อมูลทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยกำหนดจุดหมายของหลักสูตร การสร้างหลักสูตรหลายวิชา
หรือการบรรจุเนื้อหาสาระให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถและประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ
ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาในระดับต่างๆ สามารถออกไปประกอบอาชีพได้
และสามารถดำรงอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยไม่เป็นปัญหาหรือภาระของสังคม หรือจัดการศึกษาเพื่อให้บุคคลสามารถสร้างงานได้
4.4 ปัญหาทางด้านการเมืองการปกครอง
สภาพปัญหาทางด้านการเมืองของไทยเป็นมาอย่างยาวนาน
สมควรที่การศึกษาจะเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาด้านการเมือง
คือการให้ความรู้และปลูกฝังในเรื่องของประชาธิปไตย
เพราะประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในท้องถิ่นชนบทมีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยไม่ดีพอ นอกจากนั้นประชาชนส่วนใหญ่
ยังขาดความสำนึกและความรับผิดชอบต่อวิถีทางแบบประชาธิปไตย
ซึ่งจะเห็นได้จากการเข้ามีบทบาททางการเมืองยังเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อย
หรือจำนวนผู้ไปใช้เสียงในการเลือกตั้งแต่ละครั้งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบกับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด
แม้ว่านักศึกษามีอายุที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้แล้วแต่อัตราส่วนผู้ใช้สิทธิ์ยังน้อยเหมือนเดิม
ในเมื่อผู้ได้รับการศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตยเป็นอย่างดี ยังขาดความสำนึกความรับผิดชอบเช่นนี้ นักพัฒนาหลักสูตรจึงควรที่จะได้ตระหนักและพัฒนาหลักสูตร
เนื้อหาวิชาหรือกิจกรรมการเรียนการสอนให้สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีจิตสำนึก และความรู้สึงรับผิดชอบต่อการปกครองของประเทศ
จากสภาพปัญหาต่างๆ
ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างที่นักพัฒนาหลักสูตรจะตั้งคำนึงถึง
ทั้งนี้เพื่อให้หลักสูตรที่ร่างขึ้นมามีส่วนแก้ปัญหาสังคมและประเทศชาติโดยส่วนรวมบางปัญหาอาจแก้ได้โดยตรง บางปัญหาการศึกษาแก้ไขโดยทางอ้อม
ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักพัฒนาหลักสูตรจะต้องพิจารณาปัญหาเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเลือกทิศทางในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างคนที่เป็นประโยชน์แก่สังคม หรือคนที่จะไปพัฒนาหรือแก้ปัญหาสังคมต่อไป
ขั้นตอนในการพิจารณาปัญหาและแนวทางแก้ไขมีดังนี้
1. พิจารณาปัญหาที่ระบบการศึกษาเอื้ออำนวยในการปรับปรุงให้ดีขึ้น
2. พิจารณาสาเหตุ ข้อเท็จจริงสภาพปัญหา
3. พิจารณาวิชา
เนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสม
4. พิจารณากิจกรรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม
5.
ข้อมูลพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป
ผู้เรียนเกิดความจำเป็นต้องเพิ่มความรู้ใหม่ ทักษะใหม่
และต้องเปลี่ยนแปลงเจตคติใหม่
ทำให้เกิดความจำเป็นจะต้องสร้างคุณธรรมและความคิดใหม่เพื่อให้คนในสังคมสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้
โดยใช้การศึกษาทำหน้าที่สร้างประชาชนที่มีคุณภาพและมีความสามารถปรับตัวให้กับความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม
หลักสูตรที่นำมาใช้จำเป็นต้องมีความสอดคล้องกับความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจุบันประเทศไทยได้นำเอาความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ในสังคมอย่างกว้างขวางในทุกๆ
ด้าน ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมดังนั้น
การจัดการศึกษาจึงควรจะให้ประชาชนตระหนักถึงสภาพข้อเท็จจริงต่างๆ
ที่เป็นผลกระทบจากความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
พร้อมทั้งให้เขาได้รับข้อมูลต่างๆ อย่างเพียงพอ เพื่อให้เขาสามารถเลือกตัดสินใจใช้วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ดังนั้น
นักพัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มความเจริญในอนาคต
เพื่อที่จะได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาคนให้สามารถดำรงตนอยู่ได้อย่างเหมาะสมในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากจะพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว
ความเจริญทางด้านนี้ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเนื้อหาของหลักสูตรและการเรียนการสอน
เช่น อุปกรณ์สอนใหม่ๆ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ คอมพิวเตอร์ วิทยุ โทรทัศน์
เครื่องบันทึกเสียง วีดีทัศน์ ไมโครฟิล์ม โพรเจกเตอร์ วิธีการสอนแบบใหม่ๆ
ซึ่งใช้เครื่องมือต่างๆ ช่วย เช่น วิทยุการศึกษา โทรทัศน์การศึกษา การศึกษาทางไกล
การสอนแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นต้น
วัสดุอุปกรณ์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และวิธีการสอนใหม่ที่อาศัยความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหล่านี้
สามารถช่วยให้จัดการศึกษามีประสิทธิภาพสูงกว่าการสอนในอดีต
ผู้พัฒนาหลักสูตรจึงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าในเรื่องดังกล่าวนำมาพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมด้วย
6. ข้อมูลพื้นฐานทางสภาพทางสังคมในอนาคต
จากสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม
และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยในปัจจุบัน
ชี้ให้เห็นว่าในอนาคตประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่หลากหลายสาขา
จากสภาพการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปดังนี้
1.
มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมทั้งอุตสาหกรรมท้องถิ่นเพิ่มขึ้น
2.
งานอาชีพอิสระมีแนวโน้มจะมีความสำเร็จมากขึ้นในอนาคตทั้งนี้เนื่องจากลักษณะการผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มักเป็นการผลิตใช้ทุนมากกว่าใช้แรงงาน
3.
ในอนาคตสภาพสังคมจะมีการแข่งขันและต่อสู้เพื่ออยู่รอดเฉพาะตัวเพราะที่ดินทำกินไม่สามารถขยายเพิ่มให้สมดุลกับประชากรได้
ทำให้เกิดการเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น และภาคอุตสาหกรรมก็ไม่สามารถรองรับแรงงานได้ทั้งหมด
เพราะฉะนั้นการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดมีมากขึ้น
4.
การประพฤติปฏิบัติของคนไทยจะเปลี่ยนไปจากวัฒนธรรมดั้งเดิมซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
สังคม การเมือง ความเจริญด้านเทคโนโลยีและการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก
ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม และสิ่งแวดล้อมของสังคมไทย
5.
ในอนาคตคาดว่าการดำเนินชีวิตของคนไทยประสบกับปัญหา ทั้งในด้านสุขภาพและ การประกอบอาชีพมากขึ้น
ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและการเพิ่มของประชากร
จากสภาพการเปลี่ยนแปลงในลักษณะต่างๆ ดังกล่าวแล้ว
หลักสูตรในอนาคตต้องมีบทบาทดังต่อไปนี้
1.
เตรียมกำลังคนให้เหมาะสมกับงานด้านอุตสาหกรรมขนาดย่อย และอุตสาหกรรมท้องถิ่น
โดยเตรียมกำลังคนที่มีคุณภาพทางด้านความรู้ทักษะ และลักษณะนิสัย
ตลอดจนเจตคติที่ดีต่อการทำงานอาชีพ
2.
ส่งเสริมอาชีพอิสระและเตรียมคนให้เห็นช่องทางในการประกอบอาชีพอิสระมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานของประชาชนส่วนหนึ่ง
3.
การศึกษาในอนาคตควรเน้นไปที่การสร้างค่านิยมด้านความสามัคคีในการอยู่ร่วมกัน
โดยให้ทุกคนรู้จักเสียสละ มุ่งทำประโยชน์ให้แก่สังคมเป็นส่วนใหญ่
และหาจุดยืนที่เป็นที่ยอมรับ
4.
เตรียมคนให้เห็นคุณค่าของการดำรงรักษาวัฒนธรรมไทย
รู้จักผสมผสานวัฒนธรรมดั่งเดิมกับวัฒนธรรมใหม่ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติตน
มุ่งพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์ความเจริญทางสังคม
ตลอดจนมุ่งพัฒนาจิตใจให้ยึดมั่นในศาสนาและหลักธรรม
มีคุณธรรมจริยธรรมอันจะนำไปสู่การมีชีวิตที่สงบสุข
5.
เตรียมฝึกคนให้สามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและปัญหาต่างๆ
ในการดำรงชีวิตพร้อมทั้งสามารถเลือกแนวทางในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
7. ข้อมูลพื้นฐานจากนักวิชาการจากสาขาต่างๆ
ข้อมูลพื้นฐานจากนักวิชาการในวิชาสาขาต่างๆ
เป็นข้อมูลสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตรสามารถคลอบคลุมความต้องการจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรได้อย่างกว้างขวาง
ข้อมูลดังกล่าวได้แก่ ข้อมูลจากนักวิชาการในวิชาสาขาต่างๆ นักการศึกษา
หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ผลผลิตของการจัดการศึกษา
คือสถานประกอบการที่จบการศึกษาเข้าไปสู่
หรืออาจจะเรียกข้อมูลจากสถานประกอบหรือตลาดแรงงานเป็นต้น
7.1 ข้อมูลจากนักวิชาการ
นักวิชาการแต่ละสาขาที่มีความรู้
ความสามารถความชำนาญเฉพาะทางย่อมรู้ทฤษฎีหลักธรรมชาติโครงสร้าง
และระดับความยากง่ายของความรู้แต่ละศาสตร์ของตนเป็นอย่างดี
คณะพัฒนาหลักสูตรต้องปรึกษาและร่วมมือกับนักวิชาการเหล่านี้เกี่ยวกับการกำหนดจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ในแต่ละสาขาวิชา
ในการกำหนดเนื้อหาวิชา ความกว้าง ความลึก
และความต่อเนื่องสัมพันธ์เนื้อหาในเรื่องการปฏิบัติการพัฒนาหลักสูตรของไทยยังขาดข้อมูลด้านนี้มาก
ทำให้เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษานักวิชาการสาขาต่างๆ จึงน่าจะมีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตรโดยร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรในแต่ละสาขา
เพื่อสร้างหลักสูตรที่สมเหตุสมผลและสมจริงทางวิชาการ
7.2 ข้อมูลจากสถานประกอบการ
เป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่นักพัฒนาหลักสูตรไม่สมควรมองข้าม
เพราะหลักสูตรจะต้องผลิตคนสู่สถานประกอบการต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาหลักสูตรในระดับอาชีวศึกษา
ความต้องการของสถานประกอบการเป็นข้อมูลสำคัญที่นักพัฒนาหลักสูตรควรนำไปพิจารณา
เพื่อจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนให้ผู้จบหลักสูตรสามารถเข้าไปสู่สถานประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับโรงเรียน
ชุมชนหรือสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่
ข้อมูลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรศึกษาวิเคราะห์
คือข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพทั่วไปของโรงเรียน เช่น
ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนครูในโรงเรียน
จำนวนอาคารสถานที่หรือห้องเรียนจำนวนอุปกรณ์และศักยภาพของโรงเรียนมากที่สุด
นอกจากนี้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนและสภาพสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่ก็เป็นข้อมูลที่ผู้จัดทำหลักสูตรหรือพัฒนาหลักสูตรจะต้องศึกษา
เช่น สภาพแวดล้อมและสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้ง
หรือสังคมโดยทั่วไปของผู้ใช้หลักสูตรหรือโรงเรียนนั้นเป็นอย่างไร
การสนับสนุนหรือความร่วมมือของชุมชนสังคมที่มีต่อโรงเรียนเป็นอย่างไร
ข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการจัดทำหลักสูตร เช่น การกำหนดวิชาเรียนต่างๆ
เพราะบางรายวิชาสภาพชุมชนและสังคมไม่สามารถเอื้ออำนวยหรือส่งเสริมเท่าที่ควร
การศึกษาก็ไม่บรรลุผล เพราะฉะนั้นการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียน ชุมชน และสังคมที่โรงเรียนตั้งอยู่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ผู้จัดทำหลักสูตรต้องศึกษา
เพื่อให้ได้ข้อมูลมาจัดทำหลักสูตรที่โรงเรียนต่างๆ
สามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อมูลต่างๆ
เหล่านี้สามารถค้นคว้าและหาข้อมูลได้จากเอกสารในการรายงานต่างๆ การสำรวจ สอบถาม
และการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวข้อง เช่น คนในชุมชน ผู้บริหาร ครู
นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้ที่สำเร็จการศึกษา
ซึ่งการศึกษาข้อมูลดังกล่าวจำเป็นสำหรับการพัฒนาหลักสูตรทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ทุกโรงเรียนสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะหลักสูตรระดับท้องถิ่นข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ผู้พัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่นจะต้องให้ความสำคัญเพื่อที่จะเสริมสร้างได้หลักสูตรที่เหมาะสมและตอบสนองต่อท้องถิ่นนั้นๆ
ได้อย่างเต็มที่
9. ข้อมูลพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และการศึกษาหลักสูตรเดิม
ประวัติศาสตร์มีความสำคัญต่อชีวิตและการกระทำในปัจจุบัน ดังคำกล่าวที่ว่า
ปัจจุบันผลของอดีตและอนาคตเป็นผลปัจจุบัน เพราะฉะนั้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์
และการศึกษาหลักสูตรในอดีตย่อมมีประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและการจัดทำหลักสูตรในปัจจุบัน
การศึกษาไทยกับประวัติศาสตร์ไทยมีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น
เพราะเหตุการณ์ในชาติย่อมมีผลกระทบต่อการศึกษาเสมอ
นักการศึกษาและนักพัฒนาหลักสูตรจึงจำเป็นต้องมีความรู้หรือข้อมูลศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติ
รวมทั้งประวัติศาสตร์ควบคู่กันไป เพราะเราต้องอาศัยพื้นฐานทางประวัติศาสตร์มาช่วยในการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรในปัจจุบัน
การศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะทำให้เราเห็นภาพรวมความเจริญของชาติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ
สภาพแวดล้อม การเมือง และวัฒนธรรมในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อการศึกษา
ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้นักพัฒนาหลักสูตรต้องวิเคราะห์ว่าการจัดการศึกษาหรือการจัดหลักสูตรอย่างนั้นในสภาพเศรษฐกิจ
สังคม และการเมืองในขณะนั้นมีความถูกต้องและเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
ส่วนใดเป็นลักษณะของการจัดการศึกษาหรือจัดหลักสูตรที่ดี
ส่วนใดเป็นลักษณะการจัดทำหลักสูตรที่ผิดพลาดแก่ผู้จัดทำหลักสูตร
การวิเคราะห์อดีตจะช่วยเพิ่มพูนความสามารถในการวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน
การที่ต้องมีการวิเคราะห์หลักสูตรเก่าเนื่องจากในการพัฒนาหลักสูตรนั้น เราตั้งต้นจากสิ่งที่เรามีอยู่หรือใช้อยู่
จุดประสงค์ของการวิเคราะห์ก็เพื่อตรวจสอบหลักสูตรที่ใช้อยู่นั้นดีหรือไม่อย่างไร
อะไรที่ดีอยู่แล้ว มีอะไรที่บกพร่อง ล้าสมัย
หรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จุดเด่น
จุดด้อย ข้อดี ข้อบกพร่องขององค์ประกอบต่างๆ
ของหลักสูตรทั้งในแง่ของประสิทธิภาพของการนำไปใช้ รวมทั้งความพึงพอใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลในอดีตที่มีคุณค่าแก่การจัดทำหรือพัฒนาหลักสูตรปัจจุบัน
ในการศึกษาประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์การศึกษาควบคู่กันไปนั้น ธำรง บัวศรี
(2532:128) ได้แสดงความคิดเห็นว่า หากลองตั้งคำถามต่างๆ แล้วลองพิจารณาหาคำตอบจะช่วยให้เห็นความเหมาะสมของการจัดการศึกษาในขณะนั้น
ตัวอย่างคำถาม เช่น ปัญหาเศรษฐกิจสังคม
และการเมืองในขณะนั้นเป็นอย่างไร
การจัดการศึกษามีจุดมุ่งหมายจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่
วิธีการที่ช่วยแก้ไขปัญหาช่วยได้หรือไม่ การจัดการศึกษามีส่วนช่วยให้ยกระดับเศรษฐกิจหรือทำให้ระบบสังคมดีขึ้นหรือไม่
มีสิ่งชี้บอกใดหรือไม่
ที่แสดงว่าหลักสูตรได้คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลหรือพัฒนาการของผู้เรียน
หลักสูตรได้ส่งเสริมการถ่ายทอดวัฒนธรรมหรือปรับปรุงวัฒนธรรมอย่างไร
หลักสูตรมีการส่งเสริมจิตสำนึกในการช่วยตนเองหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้านักพัฒนาหลักสูตรได้ศึกษาประวัติศาสตร์
และนำประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์หาคำตอบจากคำถามเหล่านี้หรือคำถามอื่นที่มีประโยชน์เหมาะสมที่จะช่วยให้ได้คำตอบที่เป็นประโยชน์และเป็นข้อมูลในการจัดการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
สรุป(Summary)
ข้อมูลหรือประองค์ประกอบต่างๆ
ที่จำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรมีมากมาย
เพราะการพัฒนาหลักสูตรเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวางจึงจำเป็นต้องอาศัยกำลังคนและกำลังสมองจากกลุ่มคนหลายๆ
กลุ่ม เช่น นักวิชาการ นักวิจัย นักจิตวิทยา นักสังคมศาสตร์ นักการศึกษา นักการเมือง
นักเศรษฐศาสตร์ ผู้บริหารทางการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง สถานประกอบการ
และคนในชุมชน
การพัฒนาหลักสูตรที่สมบูรณ์และรอบคอบจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้
จึงจะเป็นหลักสูตรพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการทางการศึกษา ตอบสนองต่อผู้เรียน
และตอบสนองต่อสังคม
ข้อมูลพื้นฐานเป็นข้อมูลในด้านต่างๆ
ที่จำเป็นซึ่งนักพัฒนาหลักจะต้องศึกษาวิเคราะห์
และใช้ประกอบการพิจารณาในการสร้างหรือจัดทำหลักสูตรในทุกองค์ประกอบของหลักสูตร
อันได้แก่ ข้อมูลทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง
การพัฒนาการทางเทคโนโลยี ประวัติศาสตร์การศึกษา หลักสูตรเดิม
ข้อมูลจากบุคลากรและจิตวิทยาการศึกษา
การศึกษาข้อมูลพื้นฐานเป็นขั้นตอนแรกสุดของกระบวนการพัฒนาหลักสูตร
ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวจะนำไปใช้ในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรในขั้นตอนต่างๆ
ตั้งแต่กระบวนการกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร กระบวนการกำหนดเนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้
กระบวนการการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและกระบวนการประเมินผลเพื่อให้ได้หลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและสังคม
อีกทั้งเหมาะสมกับลักษณะโครงสร้างของความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
และเป็นหลักสูตรที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศชาติไปในทิศทางที่ต้องการได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น