วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2561

กิจกรรมบทที่ 5 (2)


2.       ศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติมจาก สุเทพ อ่วมเจริญ การพัฒนาหลักสูตร : ทฤษฎีและการปฏิบัติ “การพัฒนาหลักสูตร : พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร”


          ในอดีตการพัฒนาหลักสูตรในระดับต่างๆ มักใช้ข้อมูลพื้นฐานประกอบการพิจารณาค่อนข้างน้อย แต่ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเฉพาะด้านเนื้อหาในวิชาต่างๆ นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตรและละเลยข้อมูลทางด้านศีลธรรม จริยธรรม และสภาพทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และแนวโน้มสภาพสังคมในอนาคต ทำให้การศึกษาของชาติที่ผ่านมาไม่สามารถช่วยให้คนไทยหลุดพ้นจากความฟุ่มเฟือย การยึดถือค่านิยมผิดๆ ในการดำรงชีวิตที่ผิดๆ ไม่ช่วยให้การว่างงานลดลง ไม่ช่วยให้แก้ปัญหาอาชญากรรมหมดไป ประเทศยังคงมีการฉ้อราษฎร์บังหลวง ยังมีคนไทยที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ ยังมีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพยากร เพราะฉะนั้นในการพัฒนาหลักสูตรระดับต่างๆ ในอนาคตจะต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานในเรื่องต่างๆ จากหลายๆ แหล่งและจากบุคคลหลายๆ ฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงมาพัฒนาหลักสูตร สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และอารมณ์ เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและประเทศชาติ หรือกล่าวโดยสรุปคือสามารถใช้หลักสูตรเป็นเครื่องมือในการสร้างสังคมใหม่ในทิศทางที่ถูกต้องได้

              การพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องศึกษา วิเคราะห์ สำรวจ วิจัย สภาพพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างเพียงพอที่จะใช้สนับสนุน อ้างอิงในการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ดี สามารถพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ และทัศนคติที่นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้

              การพัฒนาหลักสูตรเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก การที่จัดหลักสูตรให้มีคุณภาพนั้นผู้พัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาข้อมูลหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียน ข้อมูลเกี่ยวกับสังคม หรือข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เพื่อที่ให้ได้ข้อมูลที่สมจริงที่สุดเพราะข้อมูลเหล่านี้จะช่วยนักพัฒนาหลักสูตรในเรื่องต่างๆ คือ

              1. ช่วยให้มองเห็นภาพรวมว่า ในการจัดทำหลักสูตรนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้างและสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อหลักสูตรอย่างไร
              2. ช่วยให้สามารถกำหนดองค์ประกอบของหลักสูตรได้อย่างเหมาะสม เช่น การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร และการกำหนดเนื้อหารายวิชา ฯลฯ
              3. ช่วยให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์การเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
              4. ช่วยเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรอันจะส่งผลให้การดำเนินการในอนาคตประสบผลดียิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"บล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาหลักสูตร โดย   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรา ธงพานิช สาขาหลักสูตรและนวัตกรรมการจัดก...