วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เก่ง ดี มีสุข


การศึกษาจะต้องช่วยขยาย “ขอบฟ้าแห่งความรู้” ให้คนเราอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อหน้าที่ที่รับผิดชอบ ชีวิตในอุดมคติ คือ ชีวิตของคนที่ทั้งเก่ง ดี และมีความสุข แต่ในบรรดาองค์ประกอบของชีวิตอุดมคติดังกล่าว เชื่อกันว่าความสุขสำคัญที่สุดในฐานะที่เป็นพื้นฐานของชีวิต นอกจากนั้นแล้ว ความสุขยังเป็นฐานของความเก่งและความดีอีกด้วย
  เราจะเป็นคนเก่ง  ถ้าเราสามารถคิดเชื่อมโยงระหว่างจุดที่เราอยู่กับจุดที่เราคาดหวังจะเกิดขึ้น  เราจะเป็นคนดีมีน้ำใจถ้าเราสามารถคิดเชื่อมโยงตัวเราเองเข้ากับคนอื่นทั้งหลาย  เราจะรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  และเราจะมีความสุข  ถ้ารู้จักคิดเชื่อมโยงจนเห็นว่าสิ่งทั้งหลายนั้นก็เกิดดับตามเหตุปัจจัย  รู้แล้วละ รู้แล้ววาง  ดังนั้นคุณลักษณะ  เก่ง  ดี  มีสุข  ที่เป็นการพัฒนาชีวิตนั้นจึงจัดเป็นองค์รวมของการพัฒนาชีวิต 


            ความเก่งของมนุษย์ในด้านสติปัญญา (IQ)  เคยเป็นคุณลักษณะที่เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคนที่ปรารถนาจะเป็นคนฉลาดที่มีสติปัญญาดี  แต่ข้อค้นพบทางทฤษฎีและงานวิจัยต่างๆ ในระยะหลังกลับพบว่าความเก่งทางด้านสติปัญญาเพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอที่จะทำให้มนุษย์สามารถบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการมีชีวิตที่สมบูรณ์ได้   เพราะการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น นอกจากจะมีความสามารถในการเรียนรู้องค์ความรู้แล้วมนุษย์ควรจะต้องเรียนรู้ตัวเอง รวมทั้งเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเทคโนโลยีรวมทั้งมนุษย์อื่นๆ โดยมีพื้นฐานของความดีงามเป็นเครื่องรองรับ  ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงความเก่งก็จะหมายถึงทั้งความฉลาดทั้งในด้านสติปัญญา  และความฉลาดทางด้านอารมณ์  ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต้องพัฒนาควบคู่กันไป

ความเก่งตามมาตรฐานการเรียนรู้ข้างต้น  เป็นความเก่งที่มีลักษณะของการใช้ความคิด  การใช้สติปัญญา  และลักษณะของการทำงานที่เรียกว่า  คิดเป็น  ทำเป็น 

 คิดเป็น  คือการใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล  คิดเชื่อมโยงในความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆทำให้เกิดปัญญา  มีโลกทัศน์กว้างขวางที่สามารถสร้างความรู้ใหม่ได้  และการคิดเป็นย่อมนำไปสู่คุณลักษณะที่พึงประสงค์ด้านอื่นๆ  เช่น  การทำเป็น  และการอยู่ร่วมกันเป็น  การคิดเป็นจัดว่าเป็นความเก่งทั้งทางด้านสติปัญญา  (ไอคิว) และความเก่งทางด้านอารมณ์ (อีคิว) 


            ทำเป็น  เป็นความเก่งในด้านพฤติกรรมของมนุษย์  การทำเป็นในทัศนะของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี  คือการที่มนุษย์เรียนรู้จากการทำ   การทำงานเป็นโดยเฉพาะการสร้างเป็น  จะช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้จากการทำงาน  เกิดปีติ  และภูมิใจในผลงาน  หรือถ้ามีรายได้จากการทำงานด้วย  ก็จะเกิดคุณค่าของเงินที่ได้มาจากการทุ่มเทแรงกายแรงสติปัญญาในการทำงานนี้  นอกจากทักษะที่กล่าวมาแล้ว  การเป็นคนเก่งในด้านพฤติกรรมยังหมายถึง  การเป็นคนชอบบันทึก  มีทักษะในด้านการสื่อสาร  มีทักษะในการเผชิญสถานการณ์และทักษะในการจัดการเป็นต้น  

สำหรับคุณลักษณะ “ดี”  และ “มีสุข”  อาจขยายความโดยเปรียบเทียบกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในทัศนะของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี  ที่ต่อจากการคิดเป็น  ทำเป็น  คือ  การอยู่ร่วมกันเป็น  การอยู่ร่วมกัน เป็นการเรียนรู้ทักษะที่เน้นในด้านจริยธรรม  โดยมนุษย์จะต้องอาศัย คุณธรรมพื้นฐานร่วมกับการคิดเป็น  และทำเป็น  ซึ่งเป็นลักษณะของคนเก่งประกอบกัน จึงจะทำให้มนุษย์สามารถมีทักษะในการอยู่ร่วมกันเป็นทั้งการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์  มนุษย์กับธรรมชาติ  และมนุษย์กับเทคโนโลยี  ซึ่งการเรียนรู้ที่จะเกิดทักษะในด้านนี้จะต้องประกอบด้วยการพัฒนาในด้านอารมณ์   ความรู้สึก (จิตใจ)  ในแง่บูรณา-การกับการคิดเป็นและการทำเป็นด้วย

             คุณธรรมพื้นฐานนั้นควรได้รับการฝึกฝนและปลูกฝังในจิตใจ  เพื่อให้เกิดทักษะชีวิต คือความเป็นคนดี  ที่สามารถนำไปใช้ควบคู่กับ ความเป็นผู้ที่มีสติปัญญา ได้อย่างเหมาะสม  เพราะในความเป็นจริง  ความเก่งหรือความสามารถทางสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างสรรค์ให้สังคมสงบสุขได้  ในทำนองเดียวกัน ความดีอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอสำหรับการพัฒนาชีวิตและสร้างสรรค์สังคมของมนุษย์ให้เจริญก้าวหน้าไปได้  เพราะความดีจะต้องมีปัญญาเป็นสิ่งพึ่งพิง เป็นหลัก  เป็นแนวทางให้คนดีได้แสดงออกในด้านการกระทำเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อสังคมแวดล้อม 

คำว่า เก่ง – ดี – มีสุข เป็นคำที่เริ่มต้นจากฝ่ายการศึกษา ต่อมาได้มีผู้นำไปใช้อย่างแพร่หลายเพราะเป็นคำพูดง่ายติดปาก แม้แต่กระผมเองยังพูดแต่คำว่า เก่ง - ดี - มีสุข แต่ความหมายจริง ๆ หมายความว่าอะไร ยังไม่รู้เลย ผมจึงหาความหมายของ เก่ง – ดี – มีสุข ในแง่ต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟัง
การศึกษา คำว่าเก่ง – ดี – มีสุข มีความหมายดังนี้
เก่ง หมายถึง ความสามารถทางพุทธิปัญญา คือ ความรู้ความเข้าใจที่แจ่มแจ้งสามารถนำไปใช้ได้ วิเคราะห์เป็น สังเคราะห์ได้ ประเมินได้อย่างเข้าใจ และรู้แจ้งตามศักยภาพ 
ทักษะปฏิบัติ คือ มีความรู้แจ้งแล้วยังมีความชำนาญปฏิบัติได้เป็นอย่างดี ทั้งที่เป็นทั้งทักษะฝีมือและทักษะทางปัญญา 
ดี หมายถึง เป็นผู้มีเจตคตินิยมที่ดีทั้งต่อการเรียน ความเป็นอยู่ต่อบุคคล ต่อสังคม ชุมชน และประเทศ
มีสุข หมายถึง สนุกกับการเรียนและใคร่เรียนรู้ตลอดชีวิต 
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้ความหมายของคำว่า เก่ง – ดี – มีสุข กับความฉลาดทางอารมณ์ไว้ดังนี้
ความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง ความสามารถทางอารมณ์ในการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข โดยมีองค์ประกอบความฉลาดทางอารมณ์ดังนี้ 
เก่ง หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเอง มีแรงจูงใจ สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาและแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ดีกับผู้อื่น ประกอบด้วยความสามารถดังต่อไปนี้ 
1.       รู้จักและมีแรงจูงใจในตนเอง 
2.       รู้ศักยภาพตนเอง 
3.       สร้างขวัญและกำลังใจให้ตนเองได้ 
4.       มีความมุมานะไปสู่เป้าหมาย 
5.       ตัดสินใจและแก้ปัญหา 
6.       รับรู้และเข้าใจปัญหา 
7.       มีขั้นตอนในการแก้ปัญหา 
8.       มีความยืดหยุ่น 
9.       มีสัมพันธภาพกับผู้อื่น 
10.       สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น 
11.       กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสม 
12.       แสดงความคิดเห็นขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ 
ดี หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความต้องการตนเอง รู้จักเห็นใจผู้อื่น และมีความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม ประกอบด้วยความสามารถต่อไปนี้ 
1.       ควบคุมอารมณ์และความต้องการของตนเอง 
2.       รู้อารมณ์และความต้องการของตนเอง 
3.       ควบคุมอารมณ์และความต้องการได้ 
4.       เห็นใจผู้อื่น 
5.       ใส่ใจผู้อื่น 
6.       เข้าใจยอมรับผู้อื่น 
7.       เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม 
สุข หมายถึง ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างมีสุข ประกอบด้วย 
1.       ภูมิใจในตนเอง 
2.       เห็นคุณค่าในตนเอง 
3.       เชื่อมั่นในตนเอง 
4.       พึงพอใจในชีวิต 
5.       มองโลกในแง่ดี 
6.       มีอารมณ์ขัน 
7.       พอใจในสิ่งมี่ตนมีอยู่ 
8.       มีความสงบทางใจ 
9.       มีกิจกรรมที่เสริมสร้างความสุข 
10.       รู้จักผ่อนคลาย 
11.       มีความสงบทางจิตใจ 


ขอบคุณ
โรงเรียนอัตตาภิวัฒน์
นาย ธีรัชภัทร ลีโอ บัวคำศรี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"บล็อกนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาหลักสูตร โดย   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรา ธงพานิช สาขาหลักสูตรและนวัตกรรมการจัดก...